ฟันแท้หลุด… ทำไงดี รักษาได้ไหม?

ฟันแท้หลุด

ฟันหลุดเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย หลายคนอาจจะสงสัยว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เราจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างให้ฟันแท้อยู่เหมือนเดิม แต่อีกหลายคนอาจจะทำใจไปแล้วว่าไม่มีทางที่ฟันแท้จะกลับมาเหมือนเดิมแน่ๆ ทุกคนอย่าเพิ่งคิดแบบนั้นค่ะ ฟันแท้หลุดเราสามารถทำให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ แต่ต้องเรียนรู้วิธีการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นอย่างถูกวิธี วันนี้ทาง BIDC มีวิธีการดูแล ป้องกันหรือการรักษาเบื้องต้นในกรณีที่ฟันแท้หลุด หรือหักให้ทุกคนได้ศึกษากันค่ะ

ทำอย่างไร “เมื่อฟันแท้หลุด”

ฟันคุด

หลักการสำคัญที่สุดเมื่อเกิดกรณีฟันแท้หลุด คือ ต้องพยายามนำฟันซี่นั้น ใส่กลับเข้าที่เดิมให้เร็วที่สุด และต้องให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อที่หุ้มอยู่บริเวณโดยรอบรากฟันให้น้อยที่สุด

กรณีที่ฟันหลุดออกจากเบ้าฟันทั้งซี่ แต่ยังไม่กระเด็นหลุดออกมาจากช่องปาก

กรณีนี้แสดงว่าฟันยังไม่ปนเปื้อนความสกปรกภายนอกช่องปากมาก ดีที่สุดคือให้รีบนำฟันใส่กลับเข้าสู่เบ้าฟันตามเดิมโดยเร็วที่สุด สำหรับการใส่ฟันกลับเข้าไปที่เดิม หากขณะนั้นมือสกปรกมาก ต้องล้างมือให้สะอาดก่อน (ระหว่างนั้นห้ามบ้วนเอาฟันออกมาข้างนอกให้อมไว้ในปาก) จากนั้นให้ใช้นิ้วมือที่สะอาดจับส่วนของตัวฟัน “ห้ามจับที่รากฟันเด็ดขาด” เพราะบริเวณรากฟันมีเนื้อเยื่อหุ้มอยู่ เรียกว่า เอ็นยึดปริทันต์ (periodontal ligament) และเคลือบรากฟัน (cementum)

บริเวณนี้มีเซลล์อยู่ ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีความสามารถในการเชื่อมติดกับเซลล์ในเบ้าฟันได้ ส่วนวิธีการใส่ฟันกลับเข้าไปนั้น ให้ลองสังเกตฟันซี่ข้างๆ ว่าวางตัวอยู่ในทิศทางแบบไหน ก็ให้พยายามใส่เข้าไปคล้ายฟันซี่ข้างเคียง ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นฟันหน้า สังเกตว่าให้หันฟันด้านที่เรียบนูนไว้ด้านนอก และหันฟันด้านที่เป็นแอ่งเว้าไว้ด้านในช่องปาก จากนั้นจับฟันใส่เข้าไปที่เดิมอย่างเบามือที่สุด ถ้าใส่ไม่เข้าอย่าใช้แรงฝืนดันเข้าไปเด็ดขาด เพราะจะทำให้เนื้อเยื่อรอบปลายรากฟันได้รับความกระทบกระเทือน หรือบางทีอาจเกิดการกระแทกกระดูกรอบรากฟันร่วมด้วย

กรณีที่ฟันกระเด็นหลุดออกมานอกช่องปาก

ต้องรีบหาฟันให้เจอแล้วหยิบขึ้นมาโดยต้องระวังเหมือนเดิมคือ จับเฉพาะบริเวณตัวฟันเท่านั้น เพื่อให้กระทบกระเทือนเนื้อเยื่อรอบ ๆ รากฟันให้น้อยที่สุด ดูว่าบริเวณที่ฟันตกลงไปนั้นสกปรกหรือเปล่า ถ้าไม่สกปรกให้รีบจับฟันใส่เข้ายังที่เดิมในช่องปากได้เลย

ถ้าบริเวณที่ฟันตกลงไปสกปรกก็ต้องทำความสะอาดฟันก่อน วิธีที่ดีที่สุดคือจับเฉพาะบริเวณตัวฟัน เอาน้ำนมจืดมาเทราดลงบนฟื้น แต่ให้ระมัดระวังส่วนผิวรากฟัน อย่าใช้นิ้วหรือวัสดุใด ๆ ไปเช็ดถูบริเวณนี้ เพราะจะทำให้เนื้อเยื่อที่หุ้มรากฟันชอกช้ำหรือฉีกขาดเพิ่มขึ้น วิธีการทำความสะอาดนอกจากการเทราดแล้ว ยังอาจนำฟันมาแกว่ง ๆ ในน้ำนมจืดก็ได้ หากไม่มีนมจืด ที่ดีรองลงมาคือ ให้ใช้น้ำเกลือทำความสะอาดแทนได้ แต่ถ้าหาไม่ได้ทั้ง 2 อย่างก็ให้ใช้น้ำเปล่าทำความสะอาด แล้วรีบใส่ฟันกลับเข้าที่เดิม

สิ่งสำคัญในการทำความสะอาดฟันก็คือต้องระมัดระวังอย่าให้เนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ รากฟันสูญหายไป พยายามรักษาเอาไว้ให้ดีที่สุด เพราะเคยทราบมาว่ามีบางคนกลัวว่าฟันจะไม่สะอาด จึงล้าง และขัดฟันที่หลุดมาอย่างดี แต่แท้ที่จริงแล้วเราไม่ควรทำแบบนั้น เพราะฟันจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม เนื่องจากไม่มีเซลล์ที่จะไปช่วยยึดรากฟันให้ติดกับกระดูกเบ้าฟันได้แล้ว

ในกรณีที่ไม่สามารถนำฟันกลับเข้าที่เดิมได้จริงๆ ให้รีบหาของเหลวมาแช่ฟัน แล้วไปพบทันตแพทย์โดยเร็ว ของเหลวที่เหมาะสมและน่าจะหาได้ก็คือ “นมจืด”  จะเป็นนมพาสเจอไรส์หรือยูเอชที low fat หรือ whole fat ก็ได้ ถ้าไม่มีนมจืดให้ใช้น้ำเกลือแทนได้ แต่ถ้าไม่มีทั้ง 2 อย่าง แนะนำให้แช่ในน้ำลาย เป็นทางเลือกที่ดีอย่างสุดท้าย โดยให้อมฟันไว้ที่กระพุ้งแก้มแล้วรีบมาพบทันตแพทย์

นมจืด นมพาสเจอไรส์
นมจืด
น้ำเกลือสะอาด
น้ำเกลือ

 

น้ำลายภายในปาก
น้ำลาย

แต่ถ้าไม่สามารถทำแบบนั้นได้จริงๆ การแช่น้ำสะอาดธรรมดาคงเป็นวิธีสุดท้ายที่ไม่อยากแนะนำมากนัก เพราะน้ำไม่เหมาะกับการคงสภาพของเซลล์รอบรากฟันที่เราอยากจะเก็บรักษาไว้ให้ดีที่สุด แต่ที่สำคัญคือ ห้ามปล่อยให้ฟันอยู่ในสภาพแห้งๆ เด็ดขาด สำหรับตำแหน่งแผลที่ฟันหลุดออกมาให้ใช้ผ้าก๊อซหรือสำลีที่สะอาด วางบนแผลแล้วกัดเบา ๆ จากนั้นก็ให้ “รีบเดินทางมาพบทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด”

รู้หรือไม่ !?

กรณีที่ฟันถูกทิ้งให้แห้งนานเกินกว่า 1 ชั่วโมง ทันตแพทย์มักไม่แนะนำให้ทำการรักษาด้วยวิธีใส่ฟันกลับเข้าไปใหม่ แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นที่จะต้องใส่ฟันซี่นั้นกลับเข้าไปจริงๆ สามารถปรึกษาทันตแพทย์ได้ แต่ก็หวังผลได้น้อยมากๆ และอาจจะไม่สำเร็จ หรือถ้าสำเร็จก็ไม่ใช่ฟันที่จะสามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ

ขั้นตอนการรักษาเมื่อฟันแท้หลุด

thailand dental services

เมื่อนำฟันที่หลุดไปพบทันตแพทย์ ทันตแพทย์ที่จะต้องหาวิธีการยึดติดฟัน ให้อยู่ในตำแหน่งเดิมให้สำเร็จ และกลับมาใช้งานได้เป็นปกติมากที่สุด โดยเมื่อทันตแพทย์ใส่ฟันกลับเข้าไปแล้ว จะต้องทำให้ฟันซี่นี้อยู่กับที่ ไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนที่เลย หรือป้องกันให้ขยับได้น้อยที่สุด ตามธรรมชาติเป็นระยะเวลาหนึ่งเปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนเวลาเรากระดูกหัก หมอต้องใส่เฝือกเอาไว้เพื่อไม่ให้กระดูกที่ต่อขยับเขยื้อน

ไม่เช่นนั้นกระดูกก็จะไม่ต่อกันสักที ทันตแพทย์จึงอาจจะทำการใส่เครื่องมือช่วยยึดติดฟันไว้กับที่ ซึ่งมีมากมายหลายประเภทแล้วแต่กรณี การทำให้ฟันที่หลุดอยู่กับที่และขยับเขยื้อนน้อยที่สุด ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การยึดติดของฟันซี่ที่หลุดนี้สำเร็จหรือไม่ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยด้วยในการดูแลระมัดระวังฟันซี่นี้ ระหว่างที่รอให้เซลล์ค่อยๆ เชื่อมต่อยึดฟันเข้ากับกระดูกเบ้ารากฟัน โดยดูแลไม่ให้ฟันซี่นี้ขยับเขยื้อน ระวังอย่าให้มีอะไรไปกระแทกโดน หรือเคี้ยวอาหารแข็งๆ เป็นต้น

และต้องมาพบหมอฟันตามนัดเป็นระยะๆ หรือถ้าพบว่าเครื่องมือยึดติด ที่ติดไว้เกิดขยับหรือหลุดก็ให้รีบมาหาหมอฟันทันที ซึ่งระยะเวลาที่ฟันแต่ละซี่จะยึดติด จะแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่ประมาณ 2 สัปดาห์ขึ้นไป หลังจากที่ฟันซี่ที่หลุดสามารถยึดติดกลับที่เดิมได้แล้ว ต้องมีการรักษาคลองรากฟันต่อไปด้วย เนื่องจากฟันที่หลุดออกมาแล้วนั้น เส้นเลือดเส้นประสาทที่มาเลี้ยงตัวฟันได้ขาดออกไปแล้ว และบางครั้งอาจต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักด้วย ถ้าฟันสกปรกมากหรือมีบาดแผลที่สัมผัสกับสิ่งสกปรก

อ่านเพิ่มเติม : รักษารากฟัน คืออะไร? ทำไมเราต้องรักษารากฟัน (คลิกอ่าน)

“ฟันหัก” เกิดขึ้นได้อย่างไร ???

ฟันหัก เกิดขึ้นได้อย่างไร

ฟันหักเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่มักเป็นผลจากการกระทบกระเทือนอย่างแรงบริเวณปากหรือใบหน้า ได้แก่

หกล้ม

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา

อุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะ

การแทะหรือกัดอาหารที่แข็งเกินไป

การต่อสู้

โดยปกติเคลือบฟันของคนเรานั้นเป็นส่วนที่มีความแข็งแรง และประกอบด้วยแร่ธาตุมากที่สุดในร่างกาย แต่ความแข็งแรงนี้มีขีดจำกัด หากมีการกระทบกระเทือนที่รุนแรงเช่น การหกล้ม การถูกกระแทกด้วยของแข็งอย่างแรง หรือการกัดและแทะของที่แข็งมากๆ ก็อาจทำให้ฟันหักได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีฟันผุ เคลือบฟันจะยิ่งอ่อนแอจนทำให้เกิดการแตกหักหรือบิ่นได้ง่ายกว่าปกติ

วิธีป้องกันฟันหัก

ฟันหักมักเกิดจากอุบัติเหตุ จึงไม่อาจป้องกันได้ทั้งหมด แต่มีวิธีลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ดังนี้

  • หากเล่นกีฬาควรสวมฟันยาง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่ฟัน เหงือก และบริเวณกระดูกขากรรไกร ควรใช้ฟันยางที่มีขนาดพอดีกับปาก เพราะจะช่วยป้องกันได้ดีกว่าฟันยางชนิดสำเร็จรูป
  • หลีกเลี่ยงการต่อสู้ที่อาจกระทบกระเทือนฟัน
  • หลีกเลี่ยงการกัดหรือแทะอาหารแข็งๆ
  • ควรคาดเข็มขัดนิรภัยหรือสวมหมวกกันน็อก เมื่อขับขี่หรือโดยสารยานพาหนะ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะ และฟัน
เฝือกสบฟัน ฟันยาง

แม้ว่าอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดฟันหลุดจะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่เมื่อเกิดเหตุแล้วอาจมีความรุนแรง และมีโอกาสสูญเสียฟันได้ ดังนั้นการปฏิบัติตามข้อแนะนำอย่างถูกวิธีก่อนที่จะมาพบทันตแพทย์ (ภายใน 60 นาที) จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จ

ถ้าไม่อยากสูญเสียฟันแท้ เราควรระมัดระวังในการใช้ชีวิตให้มากที่สุด หรือต้องป้องกันด้วยการลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ โดยวิธีต่างๆอย่างเหมาะสม นอกจากนั้นแล้วเราควรทราบการปฏิบัติตัวในเบื้องต้น ในกรณีฟันแท้หลุดว่าต้องทำเช่นไรที่จะให้เกิดผลกระทบต่อฟันที่หลุด และการรักษาในอนาคตน้อยที่สุด เพื่อที่ฟันแท้จะอยู่กับเราต่อไปนานๆ

สรุป

ถ้าเกิดเหตุการณ์ฟันแท้หลุดออกจากปาก ให้สบายใจได้ว่าทันตแพทย์จะสามารถปลูกฟันซี่นั้นกลับคืนสู่เบ้าฟันได้ โดยมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง ที่สำคัญคือฟันที่หลุดออกมานั้น ต้องได้รับการเก็บรักษาอย่างถูกวิธี และมีระยะเวลาที่ฟันอยู่นอกช่องปากไม่นานเกินไป (ภายใน 60 นาที)

รวมทั้งสุขภาพช่องปากต้องอยู่ในเกณฑ์ดีด้วย ในช่วงของการรักษาจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด และไปพบทันตแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การรักษาฟันที่หลุดออกมานั้นได้ผลดีที่สุด สามารถติดกลับเข้าเบ้าฟันได้เป็นอย่างดี และใช้งานได้ตามปกติต่อไป

ปรึกษาเรื่องจัดฟัน

ติดต่อเรา คลินิกทันตกรรม BIDC รัชดา

ศูนย์ทันตกรรม บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล เดนทัล เซ็นเตอร์
157, 159 รัชดาภิเษก ซอย7 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400 ประเทศไทย

โทรศัพท์ : +66 (2) 694 6400+66 (2) 692 4433
อีเมล์ : contact@bangkokdentalcenter.com

Line ID : @bidcdental

สแกน QR Code ปรึกษาเราที่นี่

@bidcdental
@bidcdental