ยาต้านเกล็ดเลือด/ยาต้านการแข็งตัวของเลือด กับการทำฟัน

ยากับสุขภาพในช่องปาก

วันนี้ขอมาพูดคุยแบบสบายสบาย เกี่ยวกับยา Anticoagulant/Antiplatelet drugs ทั้งคู่นี้ เพราะบางครั้งเวลาคนไข้ที่ใช้ยาแล้วจะต้องมาทำฟัน ก็จะมีปัญหาว่าจะต้องหยุดยาหรือไม่ หยุดนานเท่าไหร่ ถ้าไม่หยุดยาจะมีเลือดออกมากมั้ย กินยาละลายลิ่มเลือด ทำฟันได้ไหม? อะไรแบบนี้

DENTALK


ก่อนจะเข้าประเด็นที่ว่า มาทำความรู้จักกับยากันสักหน่อย Antiplatelet drugs, Anticoagulant ยาทั้งคู่ มักถูกเรียกรวม ๆ (อย่างผิดๆ) ว่า  ยาละลายลิ่มเลือด  แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยาทั้งคู่ไม่มีสรรพคุณในการละลายลิ่มเลือดแต่อย่างใด

แต่สามารถป้องกัน การเกิดลิ่มเลือดอันไม่พึงประสงค์ ซึ่งจะไปอุดตันเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญในร่างกาย เช่นหัวใจ สมอง เป็นต้น

ซึ่งหมอจะจ่ายยากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือนานๆที อาจให้ทั้งสองกลุ่มพร้อมกัน โดยพิจารณาจากโรคหรือภาวะของคนไข้แต่ละราย เช่น คนที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจ มักจะได้ยาต้านเกล็ดเลือด คนไข้ที่หัวใจห้องบนเต้นผิดปกติ หรือ คนไข้ที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม จะได้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด

เมื่อคนไข้ได้รับยาสองกลุ่มนี้ ควรรู้ชื่อหรือชนิดของยา แนะนำให้ถ่ายรูปเก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือเลยครับ เพราะชื่อยาเดี๋ยวนี้บางทีก็จำยาก รวมไปถึงควรจะรู้จักโรคหรือภาวะที่ทำให้ต้องใช้ยา เพราะบางครั้งอาจทำให้คุณหมอฟัน ต้องดูแลบางอย่างเป็นพิเศษ เช่น ต้องให้ยาปฏิชีวนะก่อนถอนฟันในผู้ป่วยที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม

ยาทั้งสองกลุ่มจะช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอันไม่พึงประสงค์ ที่อาจจะอุดตันเส้นเลือดของอวัยวะสำคัญ และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตาย สมองขาดเลือด

ถึงตรงนี้น่าจะพอเห็นภาพกันแล้วใช่มั้ยครับว่า ลิ่มเลือดอันไม่พึงประสงค์นั้นมีความน่ากลัวเพียงใด

แต่แท้จริงแล้ว การสร้างลิ่มเลือด เป็นกลไกตามธรรมชาติที่เป็นขั้นเป็นตอน และสลับซับซ้อน เพื่อให้ได้ลิ่มเลือดมาช่วยอุดบาดแผล หรือเส้นเลือด มิฉะนั้นเมื่อมีบาดแผล เราก็จะเลือดออกไปเรื่อยๆ ดังนั้นเวลาเรามีบาดแผล ไม่ว่าจะเกิดจากมีดบาด แผลผ่าตัด หรือแผลถอนฟัน การสร้างลิ่มเลือดจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เลือดของเราหยุดไหลได้

และแน่นอนครับว่า ยาที่เคยเป็นประโยชน์ในการป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอันไม่พึงประสงค์ สำหรับคนไข้ที่มีโรคหรือภาวะบางอย่าง ก็จะรบกวนการสร้างลิ่มเลือดปกติบ้างไม่มากก็น้อย แต่ผลสรุปของสถานการณ์นี้มักจะออกมาประมาณว่า ผู้ที่ใช้ยาทั้งสองกลุ่มนี้ หากมีบาดแผลเล็กๆน้อยๆ เลือดก็ยังสามารถหยุดได้ แต่ในกรณีที่มีบาดแผลใหญ่ หรือผ่าตัดใหญ่ อาจประสบปัญหาในการหยุดเลือด หรือมีเลือดออกมากผิดปกติได้ ทำให้ต้องมีข้อพิจารณาของการหยุดยา (ซึ่งก็มีระยะเวลาที่แตกต่างกันแล้วแต่ชนิดของยา) หรือการปรับเปลี่ยนยาทั้งระหว่างกลุ่มเดียวกัน หรือข้ามกลุ่ม

คราวนี้ลองมาโฟกัสที่การทำฟัน


งานบางอย่างเช่นรักษารากฟันหรืออุดฟัน ที่ไม่ทำให้เกิดเลือดออก โดยหลักการแล้วคนไข้ก็สามารถรับการรักษาได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไป แต่บางงานทันตกรรมที่จะมี แผล หรือ มีเลือดออก เช่น ถอนฟัน ผ่าฟันคุด ฝังรากเทียม ก็อาจทำให้เกิดความกังวลได้ว่าจะมีเลือดออกมากผิดปกติหรือไม่ หากคนไข้ยังได้รับยาทั้งสองกลุ่มอยู่

ถึงตอนนี้ขออนุญาตให้ข้อมูลที่อาจทำให้เกิดความสบายใจขึ้นได้บ้างว่า การทำฟันส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการขูดหินปูน การตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ หรือถอนฟัน (ไม่เกินสามซี่) จากการศึกษาวิจัยในช่วงที่ผ่านมา พบว่า

ถึงแม้ไม่หยุดยา ความเสี่ยงของการมีเลือดออกผิดปกติก็ไม่แตกต่างจากคนทั่วไป นั่นหมายความว่าคนไข้ไม่ต้องกังวลเรื่องเลือดออกจนหยุดยาเอง และคุณหมอฟันก็ไม่ต้อง ให้คนไข้หยุดยาก่อนแล้วค่อยนัดมาถอนฟันใหม่ แต่ก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง พิจารณาเทคนิค หรือใส่สารห้ามเลือดตามความเหมาะสม

แต่สำหรับบางงานที่มีความเสี่ยงของการเกิดเลือดออกได้ค่อนข้างสูง เช่น ถอนฟันมากกว่าสามซี่ การฝังรากเทียมที่ต้องมีการปลูกกระดูกร่วมด้วยเป็นปริมาณมาก การตัดเหงือก หรือกระดูกเป็นบริเวณกว้าง ฯลฯ คุณหมอฟันจะพิจารณา ปรับแนวทางการรักษา เช่นทยอยทำทีละน้อย เตรียมวัสดุอุปกรณ์เพื่อห้ามเลือดไว้เป็นพิเศษ ก็คือคุณหมอฟันเค้าก็จะพยายามเต็มที่เพื่อให้คนไข้ สามารถทำฟันได้โดยไม่ต้องหยุดยา เพราะฉะนั้นคนไข้อย่ารีบหยุดยาเอง เพราะอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดลิ่มเลือดอันไม่พึงประสงค์ ซึ่งในทางการแพทย์มักจะมองว่า มีผลกระทบ หรืออันตรายสูงกว่าเลือดออกในช่องปาก

แต่ถึงที่สุดแล้วหากคุณหมอฟันพิจารณาแล้วเห็นว่า งานทันตกรรมที่จะทำนี้มีความเสี่ยงของเลือดออก และตัวคนไข้นั้นก็มีความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอันไม่พึงประสงค์ หากหยุดยา คุณหมอฟันก็มักจะตัดสินใจร่วมกับคุณหมอที่ให้ยา ในการที่จะบาลานซ์ระหว่างการเกิดเลือดออก กับการเกิดลิ่มเลือดอันไม่พึงประสงค์หากหยุดยา เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดสำหรับคนไข้เอง ซึ่งวิธีการนั้นอาจมีได้หลายแบบ เช่น เลือกหยุดยาบางตัวถ้าคนไข้ได้ยาร่วมกันหลายชนิด การเลื่อนหรือเหลื่อมเวลากินยา ที่จะเลือกใช้ได้สำหรับยาชนิดใหม่บางตัว หรือการค่อย ๆ ปรับยาที่ออกฤทธิ์ยาวเป็นยาที่ออกฤทธิ์สั้น เพื่อที่จะหยุดยาได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ตอนผ่าตัด

กล่าวโดยสรุป


ก็คือ คนไข้ที่กินยาต้านเกล็ดเลือด หรือ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เมื่อจะมาทำฟัน ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ต้องหยุดยา แต่สำหรับบางงานที่มีความเสี่ยงของการมีเลือดออกได้มาก คุณหมอฟันจะพิจารณาร่วมกับคุณหมอในการที่จะปรับเปลี่ยนยาตามแนวทางที่กล่าวไปแล้ว หรืออาจให้หยุดยา ซึ่งทุกวันนี้ยามีหลากหลายกว่าสมัยก่อนมาก แต่ละตัวก็มีระยะเวลาในการหยุดไม่เหมือนกัน การตัดสินใจว่าจะหยุดยาหรือไม่อย่างไร จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ โดยการดูแล หรือคำแนะนำของคุณหมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณหมอที่เป็นคนจ่ายยา

คุณหมอฟันก็ต้องสามารถเลือกใช้เทคนิค และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ในการห้ามเลือดอย่างเหมาะสม และตัวคนไข้เองนั้นก็ควรที่จะรู้ชื่อยาที่ตนเองใช้ รวมไปถึงชื่อโรคหรือภาวะที่ทำให้ต้องใช้ยา เพื่อที่จะเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของตัวคนไข้เอง และที่สำคัญคือไม่ควรหยุดยาเองครับ


ผศ.นพ.ทพ.ดร. บวร คลองน้อย

ขอขอบคุณข้อมูลเรื่องการทำฟัน จาก:
ผศ.นพ.ทพ.ดร. บวร คลองน้อย

ความรู้ทันตกรรมเรื่องปลูกเหงือก โดย ผศ.นพ.ทพ.ดร. บวร คลองน้อย

00:39 ทั้งกระดูกและเหงือกหายไป จะเป็นปัญหายังไงคะ? | 01:35 ทำไมต้องปลูกเหงือก แล้วถึงไปปลูกกระดูก?

ปลูกเหงือก : สิ่งสำคัญที่มักถูกมองข้าม?!


การทำรากฟันเทียม หากมีกระดูกและเนื้อเหงือกไม่เพียงพอ จะไม่สามารถฝังรากฟันเทียมในระดับปกติได้ บางเคสจึงมีความจำเป็นต้องปลูกกระดูก และปลูกเหงือกก่อนเพื่อปักรากเทียม


ดูคลิปวีดีโอการให้ความรู้เรื่องทันตกรรม เพิ่มเติมได้ที่ : Dentalk | By Dentists BIDC Thailand (คลิก)

สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาฟัน ที่นี่
@bidcdental

ติดต่อเรา คลินิกทันตกรรม BIDC รัชดา

ศูนย์ทันตกรรม บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล เดนทัล เซ็นเตอร์
157, 159 รัชดาภิเษก ซอย7 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400 ประเทศไทย

โทรศัพท์ : +66 (2) 694 6400+66 (2) 692 4433
อีเมล์ : contact@bangkokdentalcenter.com

Line ID : @bidcdental

สแกน QR Code ปรึกษาเราที่นี่

@bidcdental
@bidcdental