เสียวฟัน ทำไงดี? วิธีป้องกันและรักษาอาการเสียวฟัน

เสียวฟัน

อาการเสียวฟัน เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจจะเป็นเพราะการแปรงฟันที่ผิดวิธี เช่น การใช้แปรงสีฟันที่แข็งหรือแปรงฟันแรงเกินไปก็จะทำให้เหงือกร่น ฟันสึกบริเวณใกล้ขอบเหงือก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เสียวฟันขึ้นมาได้ วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับอาการเสียวฟันว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มีสาเหตุมาจากอะไร วิธีการรักษาและวิธีป้องกันเสียวฟันมีอะไรบ้าง คลิกอ่านต่อตามหัวข้อด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ

รู้ทัน อาการเสียวฟัน พร้อมวิธีป้องกัน & รักษา [คลิกอ่านตามหัวข้อ]

  1. อาการเสียวฟันเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
  2. สาเหตุของอาการเสียวฟัน
  3. การรักษาอาการเสียวฟัน
  4. วิธีป้องกันอาการเสียวฟัน
  5. Tips ! วิธีลดอาการเสียวฟันง่าย ๆ ด้วยตนเอง
  6. สรุป

อาการเสียวฟันเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

การเสียวฟันเกิดจากการตอบสนองของเส้นประสาทในฟันที่ไวกว่าปกติต่อสิ่งกระตุ้นภายนอก เช่น อาหาร เครื่องดื่มร้อนหรือเย็น หรือแม้กระทั่งการแปรงฟัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ทําอันตรายต่อเนื้อเยื่อ และฟัน

เสียวฟันเกิดจากอะไร

โดยปกติฟันของเราจะถูก ปกป้องด้วยเคลือบฟัน และเหงือก เมื่อเคลือบฟันของเราสึก แตกออก หรือเหงือกร้นมากขึ้น เนื้อฟันจะถูกเปิดออกให้สัมผัสกับสิ่งกระตุ้นภายนอกสิ่งเหล่านี้ทําให้เกิดอาการเสียวฟันไดัง่าย

สาเหตุของอาการเสียวฟัน

เสียวฟันเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หากเกิดในวัยเด็กสาเหตุมาจากฟันผุ ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุนั้น อาการเสียวฟันอาจเกิดได้จาก คอฟันสึก โรคปริทันต์ เหงือกร่น ฟันสึก ฟันร้าว ฟันแตก ฟันผุ ฟันผุซํ้าบริเวณฟันที่ได้รับการอุดแล้ว มีพฤติกรรมชอบรับประทานอาหารรสเปรี้ยว เสียวฟันหลังจากได้รับการอุดฟันมาใหม่ๆ หรือ เสียวฟันหลังจากขูดหินปูน เป็นต้น

สาเหตุของอาการเสียวฟัน

อ่านเพิ่มเติม : โรคเหงือกอักเสบ เกิดจากอะไร อาการของโรคเหงือก (คลิกอ่าน)

การรักษาอาการเสียวฟัน

หากสาเหตุของการเสียวฟันมาจากการสึกของเนื้อฟัน เหงือกร่น การแปรงฟันที่รุนแรงเกินไป หรือแปรงผิดวิธี การทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยวบ่อยๆ ในกรณีนี้ ยาสีฟันที่ช่วยลดอาการเสียวฟันสามารถช่วยคุณได้

โดยหลังจากแปรงฟัน และบ้วนปากเรียบร้อยแล้ว ให้บีบยาสีฟันที่ช่วยลดอาการเสียวฟันปริมาณเท่าเม็ดข้าวโพด ใช้นิ้วป้ายไปทาบริเวณที่เสียวฟัน นวดวนทิ้งไว้สักครู่ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วบ้วนออกโดยไม่ต้องบ้วนน้ำแล้ว หากไม่เกิดอาการระคายเคืองที่ริมฝีปากก็สามารถทิ้งไว้ได้นานขึ้น หลังจากนั้นห้ามรับประทานอาการหรือเครื่องดื่ม 30 นาที

การรักษาทันตกรรม

แต่ถ้าไม่ดีขึ้นควรปรึกษาทันตแพทย์ การรักษาอาการเสียวฟันด้วยการเคลือบฟันที่เรียกว่า ซีลแลนท์ (Sealant) เป็นการเคลือบฟัน เพื่อป้องกันฟันผุ และลดอาการเสียวฟัน ส่วนมากมักจะทำบริเวณฟันด้านบดเคี้ยวของฟันกราม ซึ่งสารซีลแลนท์มีลักษณะเป็นของเหลวและมีส่วนผสมของสารคลอเฮกซิดีน และสารอื่น ๆ ที่ช่วยลดอาการเสียวฟัน และยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อในช่องปาก ป้องกันคราบอาหารเกาะติดฟัน เมื่อนำมาทาเคลือบฟันแล้วจะแข็งตัวได้เองโดยขบวนการทางเคมี หรืออาจเป็นชนิดที่แข็งตัวโดยการฉายแสงก่อนการเคลือบฟัน ทันตแพทย์จะทำการตรวจให้แน่ใจก่อนว่าฟันซี่นั้นไม่ผุ ถ้าหากมีฟันผุก็จะต้องทำการอุดฟันบริเวณนั้นเสียก่อน จึงทำการขัดฟันให้สะอาดด้วยผงขัดฟัน หลังจากล้างแล้วเป่าให้แห้งแล้วจึงทากรดสำหรับกัดผิวฟันทิ้งไว้สักครู่แล้วล้างออก จากนั้นจึงใช้พู่กันทาสารซีลแลนท์ทาตรงบริเวณที่ต้องการ ให้วัสดุแข็งตัวติดแน่นกับผิวฟัน แต่อาจสึกกร่อนหรือหลุดออกไปก่อนเวลาอันสมควรได้ เนื่องจากการบดเคี้ยวและการใช้งาน

ฉะนั้นควรมาพบทันตแพทย์ในทุกๆเดือน จนกว่าอาการเสียวฟันจะดีขึ้น

6 วิธีป้องกันอาการเสียวฟัน

วิธีป้องกันอาการเสียวฟัน

A title

Image Box text

  • การใช้ยาสีฟันสูตรพิเศษที่จะช่วยลดอาการ เสียวฟัน ใช้ยาสีฟันที่มีสารที่ลดการเสียวฟัน เช่น Strontium chloride และ potassium nitrate จะช่วยบล็อกท่อฟัน ป้องกันไม่ให้เส้นประสาทถูกกระตุ้นซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการเสียวฟันได้ 

  • แปรงฟันให้ถูกวิธี การแปรงฟันอย่างถูกวิธี จะช่วยป้องกันการเสียดสีของสารเคลือบฟัน และภาวะเหงือกร่นได้ โดยให้แปรงจากโคนฟันไปทางปลายฟัน และแปรงทั้งด้านนอก และด้านในของฟัน และอย่าลืมแปรงเข้าไปถึงฟันซี่ในสุดด้วย

  • ใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม หลีกเลี่ยงการใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็งเกินไป เพราะอาจทำให้คอฟันสึกได้

  • หลีกเลี่ยงการเคี้ยวของแข็ง และอาหารรสเปรี้ยว พยายามอย่าใช้ฟันเคี้ยวเมล็ดพืช และผลไม้ที่แข็งเกินไป รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเปรี้ยว เพราะกรดอาจไปทำลายผิวเคลือบฟัน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ฟันกร่อน หรือฟันผุได้ในเวลาต่อมา 

  • ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวัน ใช้ไหมขัดฟันเบา ๆ วันละครั้งก่อนนอน เพื่อลดคราบพลัค ที่ทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบ ซึ่งจะเป็นที่มาของปัญหาทั้งเหงือกร่น จนไปถึงฟันผุ และลุกลามไปถึงการสูญเสียฟันได้

  • พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจสอบสุขภาพฟัน และปรึกษาอาการเสียวฟันเพื่อตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุของอาการเสียวฟันว่าเกิดขึ้นจากอะไร จะได้ป้องกันและรักษาให้ถูกต้องตามต้นเหตุ | ทำไมต้องตรวจสุขภาพฟัน ควรตรวจฟันที่ไหนดี …คลิกอ่านต่อ

ตรวจฟัน

Tips: เคล็ดลับลดอาการเสียวฟันง่ายๆ

วิธีลดอาการเสียวฟันง่ายๆ ด้วยตนเอง คือ การปรับเปลี่ยนอุปนิสัยบางอย่างในกิจวัตรประจำวัน เพื่อช่วยให้ฟันมีสุขภาพดี และไม่มีอาการเสียว

การเปลี่ยนแปรงสีฟัน ควรเลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนนุ่ม เวลาแปรงฟันให้ขยับแปรงไปมาหน้า-หลังเบา ๆ ให้ทั่ว รวมถึงด้านที่ใช้บดเคี้ยวของฟันกราม ไม่ใช่แปรงอย่างไร้ทิศทาง หรือรุนแรงเกินไป การแปรงเบา ๆ อย่างอ่อนโยนสามารถช่วยลดอาการเสียวฟันได้

หลีกเลี่ยงอาหารรสเปรี้ยว อย่าแปรงฟันทันทีหลังรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มรสเปรี้ยว เนื่องจากกรดในช่องปากส่งผลให้เคลือบฟันอ่อนแอในช่วงเวลานั้น และจะมีอาการเสียวฟันมากขึ้นหากแปรงฟันเร็วเกินไป หรือใช้วิธีดื่นนมสักแก้วเพื่อช่วยลดความเป็นกรดในช่องปากแทน เป็นต้น

ใส่เฝือกสบฟัน จะช่วยลดการเสียดสีกันของฟันขณะนอนหลับ คุณสามารถให้ทันแพทย์ทำเฝือกสบฟันหรือหาซื้อตามร้านขายยาได้ อุปกรณ์นี้มีลักษณะคล้ายฟันยางที่นักกีฬาใช้ลดแรงกระแทก ใช้เฝือกสบฟันนี้สวมทับฟันทเพื่อป้องกันการกัดฟันและปกป้องเคลือบฟันในขณะที่นอนหลับ

หากทรมาณจากอาการเสียวฟัน ยาสีฟันไม่ใช่ทางเลือกเดียวที่ช่วยให้รับประทานอาหารที่ชอบได้อีกครั้ง ยังมีวิธีง่าย ๆ แบบธรรมชาติ เพื่อช่วยให้มีสุขภาพช่องปากดีขึ้น และช่วยลดอาการเสียวฟัน การดูแลทำความสะอาดฟันอย่างนุ่มนวลทุกวัน เพื่อป้องกันสาเหตุที่ทำให้เสียวฟัน ย่อมดีกว่าการรักษาในภายหลัง แต่หากสาเหตุของอาการเสียวฟันเกิดจากฟันผุหรือฟันแตกร้าวอย่านิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่ออุดฟัน หรือรับการรักษาที่เหมาะสม

สรุป

อาการเสียวฟันเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพราะเป็นอาการที่บ่งชี้การสึกของเนื้อฟัน ฟันผุ ฟันร้าว ฟันแตก เหงือกร่น เป็นต้น ควรปรึกษาทันตแพทย์ ในการหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เเละรักษาเพื่อที่จะได้เกิดผลกระทบที่ต่อสุขภาพเหงือก เเละฟันให้น้อยที่สุด

นอกจากนั้นสิ่งที่ดีที่สุด คือ การป้องกันและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของการใช้ฟันที่เสี่ยงต่อการทำร้ายผิวฟัน ควบคู่กับการดูแลสุขภาพฟันในชีวิตประจำวันที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง

ปรึกษาหมอฟันออนไลน์

ติดต่อเรา คลินิกทันตกรรม BIDC รัชดา

ศูนย์ทันตกรรม บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล เดนทัล เซ็นเตอร์
157, 159 รัชดาภิเษก ซอย7 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400 ประเทศไทย

โทรศัพท์ : +66 (2) 694 6400+66 (2) 692 4433
อีเมล์ : contact@bangkokdentalcenter.com

Line ID : @bidcdental

สแกน QR Code ปรึกษาเราที่นี่

@bidcdental
@bidcdental